ผลงานวิจัยที่สำคัญ ของ จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์

ศ.ดร.จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์ มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ จำนวนกว่า 105 เรื่อง สิทธิบัตร จำนวน 18 เรื่อง เป็นเจ้าของผลงานการพัฒนายางสกิมและสารที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจจากของเสียที่ได้จากอุตสาหกรรมน้ำยางธรรมชาติ โดยสามารถพัฒนาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางเกรดพิเศษจากยางสกิม (ยางที่เหลือจากหางน้ำยาง ซึ่งโดยปกติจัดว่าเป็นของเสียจากกระบวนการปั่นน้ำยางธรรมชาติ) เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมบางประเภทแทนการใช้ยางสังเคราะห์ โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรม 2 ประเภทหลัก คือ

  1. การพัฒนายางสกิมเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตกาวชนิดที่ไม่มีโปรตีนที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ โดยเฉพาะกาวที่ใช้ในทางการแพทย์ จากการคิดค้นงานวิจัยนี้ ทำให้สามารถนำไปจด สิทธิบัตรแบบทั่วโลก (PCT) รวมทั้งประเทศไทยและมาเลเซีย [1]
  2. การพัฒนายางสกิมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตหมากฝรั่ง ทดแทนยางสังเคราะห์ชนิดโพลิไอโซบิวทีลีน และโพลิสไตรีนบิวตะไดอีน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหมากฝรั่งได้เป็นอย่างดี และมีข้อดีคือ สามารถย่อยสลายได้ ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มีราคาถูกกว่ายางสังเคราะห์ถึง 10 เท่า งานวิจัยนี้ นับว่าเป็นกรณีแรกของงานวิจัยในเชิงเทคโนโลยีของโลก ที่สามารถนำยางธรรมชาติไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางอาหารได้ นอกจากนี้ ได้ทำการศึกษาแยกสารที่เรียกว่า L-quebrachitol ที่เหลืออยู่ในหางน้ำยาง ภายหลังการแยกเอายางสกิมออกไปแล้ว (เรียกว่าซีรั่ม) ซึ่งสารนี้สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์สารจำพวก optically active organic compound ต่างๆ ได้มากมาย เช่น เป็นสารต่อต้านแบคทีเรีย เป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตยาต้านมะเร็ง และสารเคมีทางการเกษตรต่างๆ เป็นต้น และยังได้มีการพัฒนางานวิจัย การเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อจากส่วนซีรั่มที่ได้ทำการแยกสาร L-quebrachitol ออกแล้ว และน้ำซีรั่มที่เหลือก็นำไปใช้ผลิตปุ๋ยน้ำได้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นงานวิจัยที่ครบวงจร สามารถนำองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำยางมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
      นอกจากนี้ ศ.ดร. จิตต์ลัดดายังรับบทบาทนักวิจัยด้านการแปรรูปเปลือกที่เป็นของเสียในโรงงานผลิตถั่วมะคาเดเมีย จากโครงการดอยตุง ให้เป็นถ่านแมคคาเพื่อสุขภาพ เพื่อใช้ประโยชน์หลากหลาย เช่น ดูดซับกลิ่นความชื้นและสารพิษ ทำให้อากาศบริสุทธิ์มากขึ้น และยังพบว่าถ่านแมคคาสามารถแผ่คลื่นอินฟราเรดระยะไกล เพื่อนำมาประยุกต์ในในการเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนโลหิตในร่างกายได้ด้วย

ใกล้เคียง